บทความสุขภาพ

มือชา นิ้วชา สัญญาณอันตรายจาก Carpal Tunnel Syndrome

มือชา นิ้วชา Bewell

อาการ “มือชา นิ้วชา” ถือเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้ข้อมือในการทำงานในท่าเดิมซ้ำๆ ได้แก่ ใช้เม้าส์ หรือแป้นพิมพ์ตลอดเวลา เช่น พนักงานกราฟฟิค พนักงานตัดต่อ หรือพนักงานบัญชี เป็นต้น ซึ่งอาการมือชา นิ้วชา จะสามารถพบในกลุ่มโรคกดทับเส้นประสาทบนรยางค์แขนได้ โดยการกดทับของเส้นประสาทมีด้วยกันหลายตำแหน่ง เช่น การกดทับของเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือ (Median nerve)  การกดทับเส้นประสาทอัลน่าบริเวณข้อศอก (Cubital tunnel syndrome) และส่วนการกดทับเส้นประสาทอื่นๆที่พบได้บ้างคือ การกดทับเส้นประสาทบริเวณต้นแขนจากการหลับลึก (Saturday night palsy) การกดทับเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อศอก (Pronator syndrome) การกดทับเส้นประสาทอัลน่าบริเวณมือ (Guyon canal syndrome) เป็นต้น 

มือชา นิ้วชา Bewell

มือชา นิ้วชา เกิดจาก

โดยกลุ่มอาการที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดก็คือ โรคพังผืดกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) เป็นการกดทับของเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือ (Median nerve) จะมีอาการปวด หรือเจ็บแบบเข็มทิ่ม บวม และชาที่บริเวณมือ ทำให้เคลื่อนไหวบริเวณมือและข้อมือได้ลำบาก เช่น กำมือไม่สุด เขียนหนังสือลำบากขึ้น เป็นต้น

มือชา นิ้วชา Bewell

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของอาการมือชา

บริเวณของข้อมือจะมีโพรงหรืออุโมงค์ (carpal tunnel) หรืออุโมงค์พังผืดบริเวณข้อมือ (Transverse carpal ligament) ซึ่งเป็นที่ลอดผ่านของเส้นประสาทมีเดียนหรือเส้นประสาทกลางฝ่ามือ โดยสาเหตุของโรคนี้เกิดจากความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้น มาจากการหนาตัวของเนื้อเยื่อและพังผืดบริเวณข้อมือทำให้โพรงข้อมือเกิดการตีบแคบลงจึงเกิดการกดทับของเส้นประสาทได้ ส่งผลให้เลือดไม่มาเลี้ยงเส้นประสาทกลางฝ่ามือและทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของมือ ซึ่งสาเหตุของการกดทับก็มีด้วยกันหลายสาเหตุ ดังนี้ 

  • เพศและพันธุกรรม ส่วนใหญ่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย เพราะโครงสร้างร่างกายผู้หญิงเป็นคนตัวเล็กกว่า ดังนั้นข้อมือจึงเล็กกว่าทำให้อาจเกิดการตีบแคบของโพรงบริเวณข้อมือได้ง่าย 
  • ความผิดปกติทางโครสร้าง เช่น ข้อมือหัก หรือเคลื่อน สามารถทำให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทได้ 
  • ภาวะอ้วน ถือว่าเป็นภาวะเสี่ยงของการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือได้ 
  • โรคที่เกี่ยวข้อง เช่น เบาหวาน รูมาตอยด์ และไฮโปไทรอยด์ 
  • การใช้ข้อมือซ้ำๆ โดยต้องกระดกข้อมือตลอดเวลา เช่น เกมเมอร์ การตัดต่อคลิปวิดิโอ หรือพนักงานที่ต้องใช้เม้าส์หรือแป้นพิมพ์บ่อยๆ เป็นต้น 
มือชา นิ้วชา Bewell

อาการที่สามารถพบได้บ่อย 

  • ปวด : เกิดอาการปวดหรือรู้สึกยิบๆ บริเวณข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ  
  • บวม : เกิดอาการบวมที่บริเวณข้อมือ เช่น ใส่นาฬิกาเรือนเดิมแล้วรู้สึกคับ 
  • ชา : มีอาการชาบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งนิ้ว ทางฝั่งฝ่ามือ 
  • การเคลื่อนไหวในฝ่ามือจำกัด เช่น กำมือไม่สุด  เขียนหนังสือลำบากมากขึ้น 
  • เมื่อขยับมือ สะบัดมือ แล้วอาการชาจะลดลง 
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อฝ่อลีบ เช่น จับปากกาแล้วหลุดมือ    
มือชา นิ้วชา Bewell

แนวทางการรักษาและป้องกัน

  1. การรักษาแบบผ่าตัด จะทำการผ่าตัดก็ต่อเมื่อรักษาอาการเบื้องต้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยจะผ่าตัดบริเวณข้อมือ โดยจะตัดเนื้อเยื่อพังผืดที่หุ้มเส้นประสาทมีเดียนที่บริเวณข้อมือ เพื่อลดแรงกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ 
  2. การรักษาโดยการรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน และแอสไพริน จะช่วยลดอาการอักเสบที่อาจเกิดขึ้นได้ 
  3. การใช้เครื่องพยุงข้อมือ ควรใส่ในตอนกลางคืน เพื่อเป็นการซัพพอร์ตข้อมือให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องมากขึ้น และเป็นการลดการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือร่วมด้วย 
  4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น พักการใช้งานมือ หรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้มีการกดทับของข้อมือ หรือการเกร็งข้อมือเป็นเวลานาน เป็นต้น 
  5. การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงาน เช่น การใช้แป้นพิมพ์ ควรหาที่รองข้อมือเพื่อเป็นการลดการกดทับบริเวณข้อมือได้ การใช้เม้าส์ที่ปรับให้มืออยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องมากขึ้น หรือการหาหมอนมารองบริเวณแขนขณะทำงาน เป็นต้น 
  6. การรักษาโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น การลดน้ำหนักในคนที่มีภาวะอ้วน หรือควบคุมอาการของเบาหวาน เป็นต้น 
  7. การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การรักษาด้วยการประคบร้อน ประคบเย็น การใช้เครื่องมือ เช่น อัลตราซาวด์ หรือพาราฟิน และการบริหารกล้ามเนื้อในมือ 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับสาระดีๆ ของอาการ “มือชา นิ้วชา” หวังว่าใครที่มีอาการดังกล่าว จะสามารถประเมินตัวเองได้เบื้องต้น และสามารถรู้เท่าทันอาการมือชาที่เกิดขึ้นได้นะนะ อย่าลืมดูสุขภาพตัวเองด้วยนะคะ ด้วยความห่วงใยจาก Bewell

อาการมือชา นิ้วชา บริหารกล้ามเนื้อมือด้วย Hand gripper

อาการมือชา นิ้วชา สามารถรักษาอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง จากอุปกรณ์ Hand gripper  ด้วยรูปทรงที่เข้ากับรูปมือ สามารถวางนิ้วมือตามตำแหน่งร่องของอุปกรณ์ หลังจากนั้นออกแรงบีบและคลายออกที่ฝ่ามือ เพื่อออกกำลังในกล้ามเนื้อมือ สามารถช่วยลดอาการชา และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อในฝ่ามื้อได้ สามารถใช้ได้กับคนทุกประเภท ทุกวัย ลองหามาลองบริหารกล้ามเนื้อมือกันดูนะคะ

Slide
ฟรี! ปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ
ปรับท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง
ตามหลัก Ergonomics

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *